วว. ร่วมแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด เพิ่มมูลค่า “ลำไย” ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตอบโจทย์ประเทศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ยกทัพเทคโนโลยีพร้อมใช้ร่วมแก้ปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาด ระบุเป็นนวัตกรรมตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงสังคมและพาณิชย์ สู่การกระจายรายได้ ความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างทั่วถึงศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการส่งออก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศแถบยุโรป ทั้งนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลำไยกระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แหล่งปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน จากการส่งเสริมการปลูกทำให้ปริมาณลำไยสดมีปริมาณมากในฤดูกาลผลผลิต ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ดังนั้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตจึงมีการนำลำไยที่เหลือจากการขายสดมาแปรรูป สร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาสำหรับบริโภคภายในประเทศ วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศมีความพร้อมในเทคโนโลยีพร้อมใช้ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวและเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรไทย ผู้ประกอบการ ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและพื้นที่ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ และเกิดคุณค่าใหม่ ซึ่งจะทำให้มีการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง ดังนี้เครื่องมือช่วยเก็บลำไย ทำงานโดยใช้แรงบีบ ไม่ใช้กำลังมอเตอร์ ประกอบด้วยแขนต่อช่วยเก็บลำไยและรถกระเช้าเก็บลำไย เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกและรวดเร็วในการเก็บผลผลิตลำไยในรัศมี 2 เมตร ลดความถี่ในการเก็บผลผลิตโดยไม่ต้องปีนขึ้นไปเก็บหลายๆ รอบ จากเดิมเกษตรกรจะใช้ไม้เก็บซึ่งจะเก็บได้ในรัศมี 1 เมตรเท่านั้นเครื่องคัดขนาดลำไย อัตราการคัดขนาดเท่ากับ 200 – 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มีค่าความแม่นยำในการคัดขนาดมากกว่า 90 % โดยไม่ทำให้ผลลำไยช้ำและเสียหาย ใช้หลักการสายพานลำเลียงเจาะรูตามขนาดมาตรฐาน คัดขนาดแบบรูปทรงและแบ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแตกต่างกัน โดยอาศัยความแตกต่างของผลลำไยที่ผ่านการตัดขั้วแล้วเครื่องคั้นน้ำลำไยพร้อมแยกเมล็ด เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเพิ่มมูลค่าและแปรรูปลำไยเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพหรือเครื่องสำอาง สามารถคั้นน้ำลำไยพร้อมแยกเนื้อและเมล็ดได้ในขั้นตอนเดียว โดยไม่ทำให้เมล็ดแตกซึ่งอาจส่งผลต่อรสชาติได้มีอัตราการทำงาน 200 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ประยุกต์ใช้กับผลไม้ได้หลากหลายชนิด เช่น แบบกรองหยาบเหมาะสำหรับใช้คั้นน้ำลำไย มะม่วง และแบบกรองละเอียดเหมาะสำหรับใช้คั้นน้ำลองกอง มังคุด กระท้อน เป็นต้นเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ระบบบาร์โคดตรวจสอบสินค้าย้อนกลับลำไยสด เป็นระบบที่เพิ่มความสมบูรณ์ให้ระบบจัดการคุณภาพลำไยสดที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตรงตามระเบียบความต้องการของ EU ระบบรองรับการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารและการจัดการไปได้ในเวลาเดียวกัน โดยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบรรจุเข้าไปในระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประกอบไปด้วย ฐานข้อมูล 3 ส่วน อันได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลของผู้ผลิตลำไย ประกอบด้วย ชื่อและหมายเลขประจำตัวชาวสวน ข้อมูลการจัดการสวน หมายเลขทะเบียนการจัดการสวนที่ดี (GAP) ซึ่งชาวสวนได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลของผู้ประกอบการส่งออก ประกอบด้วย ชื่อบริษัทผู้ส่งออก หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ เลขทะเบียนอนุญาตโรงอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ชื่อผู้นำเข้าและประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งบรรจุข้อมูลต่างๆ ในระบบบัญชี และ ส่วนที่ 3 เป็นข้อมูลของสินค้า ประกอบด้วย วันที่ทำการเก็บเกี่ยว วันที่ส่งขาย ปริมาณสินค้า เกรดและมาตรฐานของสินค้า กรรมวิธีการอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เช่น อัตราซัลเฟอร์ฯที่ใช้ หมายเลขห้องที่อบ ปริมาณสินค้าที่อบในแต่ละครั้ง ระยะเวลาในการอบ ชื่อผู้ควบคุมกระบวนการอบ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในผลลำไย หมายเลขห้องเย็นที่ใช้เก็บ วันที่บรรจุเข้าตู้เรือ หมายเลขตู้เรือ และข้อมูลบริษัทเรือ เป็นต้นโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูนและเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีของ วว. ในด้านการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพลำไยเพื่อการส่งออก มีประสิทธิภาพควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ ช่วยลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีกำลังการผลิต 72 ตันต่อวัน ช่วยยืดอายุการเก็บผลลำไยหลังการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น 30-45 วัน ให้บริการครบวงจรในการรมและการควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ฯ มีระบบห้องเย็นเพื่อใช้ในการจัดเก็บลำไยในช่วงที่มีปริมาณผลผลิตออกมามาก และมีห้องปฏิบัติการในการวิจัยและวิเคราะห์ทดสอบด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการส่งออกลำไยการแปรรูปผลผลิต “ลำไยอบแห้งสอดไส้” เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยยืดอายุและเพิ่มมูลค่า โดยการนำเนื้อลำไยแช่น้ำเชื่อม จากนั้นนำมาสอดไส้และอบแห้ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีลักษณะทรงกลม เนื้อสัมผัสภายในนุ่ม ชุ่มน้ำหวาน ไม่แข็งกระด้าง รสชาติอร่อย ในกระบวนการผลิตนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ลำไยแห้งสอดไส้แล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์พลอยได้จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำลำไยเข้มข้นหรือวุ้นลำไยอบแห้ง ที่สามารถผลิตจำหน่ายในเชิงการค้าหรือรับประทานในครัวเรือน โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ที่มั่นคงวว. พร้อมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเทคโนโลยีพร้อมใช้และขอรับบริการจาก วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 หรือที่ E- mail : tistr@tistr.or.th

https://lifeandsciencenews.com/?p=3624

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ จัดเต็มตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียงออนไลน์ ช้อปจุใจ สไตล์ New normal

https://lifeandsciencenews.com/?p=3187

วช. – สจล. ส่งความห่วงใยผ่านกิจกรรม“มังคุดวิจัย” แด่บุคลากรด่านหน้า พร้อมเชิญชวนอุดหนุนมังคุดชาวสวนชุมพร ผ่านระบบออนไลน์

https://lifeandsciencenews.com/?p=3161

“เอนก” มอบ ทปษ. ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามม.นเรศวร

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหมายให้รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชรง ที่ปรึกษาลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการของโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยนเรศวร ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับนายพิศิษฐ์ กิจบุญอนันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์อิ๊ดยังวัน ยงย่วน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (ด้านเวชกรรมป้องกัน 1) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนาม  (NU Hospitel) ในเฟสแรก จำนวน 130 เตียง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี  (กำกับดูแลงานกิจการนิสิต) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงรสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ ให้การต้อนรับ  

ความพร้อมของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการดูแลนิสิต บุคลากร และประชาชน ในเขตพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทุกด้าน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรมีศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อ COVID–19 ใน 3 ส่วนได้แก่ 
        1.  หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสิรินธร โดยใช้ห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) มีจำนวน  8 ห้อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 
        2. โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) ณ บริเวณ ชั้น  1 อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนเรศวร  (ด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร) ซึ่งมีคุณภาพของห้องเกือบเทียบเท่าหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยออกแบบคุณสมบัติ และกำกับดูแลคุณภาพการก่อสร้าง สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 20 เตียง แบ่งเป็นหอผู้ป่วย ชาย 10 คน หอผู้ป่วยหญิง 10 คน ภายในติดตั้งกล้องวงจรปิด มีห้องตรวจติดตามอาการผู้ป่วยกลาง (Central Patient Monitoring Station) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ 
        3. NU Hospitel มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับความร่วมมือจากจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงหอพักนิสิต จำนวน 1 หลัง  สามารถรองรับได้  จำนวน 130 เตียง สำหรับผู้ป่วยที่อาการดี ในส่วนหอพักนี้เมื่อใช้งานแล้วเสร็จ จะมีการพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสำหรับนิสิตที่จะเข้าพักต่อไป

อว. เปิดโรงพยาบาลสนาม มทร. ธัญบุรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดย ศาตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เป็นประธานเปิดพร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

ศาตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวว่า ในการดำเนินงานเรื่องของโควิด ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. กระทรวงอว. ได้มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดในช่วงเดือนมกราคม ปี 2563 เราได้มีการปรับสถานการณ์ปรับการดำเนินงานตามแต่ละระยะ ในช่วงต้นๆเลยวช.เกี่ยวข้องมาก เนื่องจากประเทศขาดข้อมูล ดังนั้นเราดำเนินการเรื่องข้อมูล ว่าโควิดคืออะไรแน่ ติดต่ออย่างไร ระบาดอย่างไร จะดูแลอย่างไร จะป้องกันอย่างไร ช่วงต้นเป็นการดำเนินงานเรื่องข้อมูล ต่อมาเมื่อมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นจำได้มีไม่กี่คน  และก็เริ่มมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ การทำงานของวช.ก็ปรับเพิ่มในเรื่องของข้อมูลเป็นการที่จะดูแลให้แน่ใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพมีกำลังเพียงพอที่จะดูแลไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ เราก็เห็นกิจกรรมที่วช.ทำได้แก่การสนับสนุนให้มีการพัฒนาหน้ากากอนามัย การพัฒนาห้องความดันลบ การพัฒนาชุดการตรวจวินิจฉัย และก็การพัฒนาให้แน่ใจว่าเรามีเครื่องช่วยหายใจที่เป็นกิจกรรมที่ทางวช.ทำงาน ในขณะนี้ซึ่งเป็นระยะที่เข้าสู่การระบาดรอบใหญ่ก็จะมีเรื่องของการดำเนินงานเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเรามีสถานที่พยาบาลมีที่รองรับ มีที่พักที่จะดูแลผู้ติดเชื้อ จะเห็นการขยายการดำเนินงานเพิ่มเติมจากด้านข้อมูล เพิ่มเติมจากด้านยาเวชภัณฑ์อุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้เข้าไปสู่การเตรียมการให้แน่ใจว่าเรามีโรงพยาบาลสนาม มีสถานที่ในการบริหารจัดการและก็ดูแลผู้ติดเชื้อ ก็จะเห็นว่าในการระบาดของโควิด ภาควิจัย ภาควิชาการ ภาคการศึกษา มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากและเป็นการแสดงศักยภาพว่าเราสามารถที่จะเอาข้อมูล นำเอาการพัฒนาขับเคลื่อนการวิจัย ขับเคลื่อนวิชาการ ขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมทั้งเอาทุกอย่างนี้มาผสมผสานกันเข้าสู่การบริการให้แน่จว่าคนไทยสามารถดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี

 ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว.ท่านได้มอบนโยบายสำคัญว่า โอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญที่กระทรวงอว. สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย จะได้แสดงให้สังคมเห็นอย่างเต็มที่ว่าที่ประเทศไทยได้ลงทุนเพื่อที่จะสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการวิจัย การวิจัยวิชาการของสถานที่ อุปกรณ์อะไรต่างๆเหล่านี้ประโยชน์ของประเทศคืออะไรบ้าง เห็นชัดว่าจังหวะนี้เป็นจังหวะที่เราได้ดำเนินการเป็นอย่างมากที่สำคัญก็คือว่าเราเชื่อมโยงกับทุกกระทรวง อว.เป็นกองหนุนแต่เป็นกองหนุนสำคัญ ที่ถ้าไม่มีกองหนุนตรงนี้ไปแล้วกองทัพหลักก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ในกรณีของโรงพยาบาลสนาม อว.ได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงสาธารณะสุข เชื่อมโยงระบบโรงพยาบาลสนามทั้งหมดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งการบริหารจัดการเตียงทั้งหมดของประเทศ โรงพยาบาลสนามที่เราเห็นในวันนี้ที่มีการเปิดดำเนินการ การรับส่งผู้ป่วย การรับส่งผู้ติดเชื้อต่างๆ รับส่งโดยระบบการบริหารจัดการของสาธารณสุข ดังนั้นเมื่อมีผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลหลักมีการประเมินอย่างดีว่าควรจะดูแลในโรงพยาบาลหลักหรืออยู่ในโรงพยาบาลสนาม ดังนั้นการเชื่อมต่อซึ่งกันและกันในเป็นเรื่องสำคัญเรามีทั้งเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไปและปรับปรุงเพื่อให้กระบวนการทั้งระบบเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  ซึ่งกระทรวงอว. ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสังกัด กระทรวง อว.ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อช่วยเป็นกองหนุนในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกนี้  สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 8,243 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 1,646 เตียง (20%) และคงเหลือรองรับได้อีก 6,597 เตียง (80%) และปัจจุบันได้ขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มเป็น  12,822 เตียง พร้อมทั้งยังมีระบบรองรับและการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไปยังโรงพยาบาลหลักอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ในเบื้องต้นสามารถรองรับผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ได้จำนวน 100 เตียง ซึ่งการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ก็คือ ต้องมีความปลอดภัย ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการของเสีย การจัดการอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด มีการจัดโซนนิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อมิให้มีการแพร่เชื้อไปสู่ภายนอก หรือแพร่ระบาดไปสู่ชุมชน ภายนอก   และในอนาคตจะเพิ่มอีก จำนวน 50 เตียง

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้แจ้งขอรับการสนับสนุนที่นอนมายัง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องจากยังขาดแคลนที่นอน ที่จะนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19  วช. จึงได้ส่งมอบนวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา จำนวน 200 ชุด แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย  ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้รับมอบ

ด้านดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า นวัตกรรมชุดที่นอนยางพาราเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน จังหวัดพัทลุง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลิตจากยางพาราแท้ มีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้ดี มีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง รองรับสรีระในการนอน ไม่สะสมฝุ่นและเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้สะดวก อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 10 ปี อีกด้วย

สวทช.-จุฬาฯ-วท.กห. ชูนวัตกรรม ‘แบตเตอรี่สังกะสีไอออน’ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยไร้ระเบิด 

เมื่อเร็วๆ นี้ ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 หรือ NAC2021 ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนาช่องทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ในหัวข้อ นวัตกรรมแบตเตอรี่ปลอดภัยทางเลือกใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อพัฒนา “แบตเตอรี่สังกะสีไอออน” แบตเตอรี่ทางเลือกใหม่ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. กล่าวว่า ทุกวันนี้แบตเตอรี่ที่นิยมใช้เชิงพาณิชย์คือแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานสูงที่สุดเมื่อเทียบต่อน้ำหนักของแบตเตอรี่ เหมาะต่อการใช้งานกับอุปกรณ์ที่ต้องเคลื่อนย้ายพกพาได้สะดวก แต่ยังมีข้อจำกัดคือปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ใช้อิเล็กโทรไลต์อินทรีย์ซึ่งเป็นพิษและไวไฟ สามารถระเบิดได้ นอกจากนี้แบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนยังมีส่วนผสมของโลหะหนัก ปัจจุบันใช้วิธีกำจัดด้วยการฝังกลบ แต่หากมีการใช้จำนวนมาก ย่อมมีโอกาสเกิดการรั่วไหลของสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมได้

“ไม่เพียงปัญหาด้านความปลอดภัย การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบลิเทียมในประเทศไทยยังต้องอาศัยการพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก เพราะประเทศไทยไม่มีแหล่งผลิตแร่ลิเทียม ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะเดียวกันทรัพยากรแร่ลิเทียมยังเป็นแร่หายาก หากมีความต้องการใช้ในปริมาณมากเพื่อสร้างระบบกักเก็บไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลน และเกิดการขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต”

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยศูนย์ NSD สวทช. กล่าวว่า แบตเตอรี่สังกะสีไอออนที่ทีมวิจัยศูนย์ NSD ร่วมกันพัฒนานั้น ได้นำเทคโนโลยีกราฟีนเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บประจุของแบตเตอรี่ มีค่าการเก็บประจุสูงถึง 180-200 mAh/g และมีค่าความหนาแน่นพลังงานอยู่ในช่วง 180-200 Wh/kg ให้ค่าแรงดันได้ 1.2–1.4 โวลต์ สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า 1,000 รอบ มีประสิทธิภาพด้านความหนาแน่นพลังงานสูงกว่าแบตเตอรี่ตะกั่วกรด และสามารถเทียบเคียงกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนบางชนิดได้ 

นอกจากนั้นแล้วแบตเตอรี่สังกะสีไอออนยังมีจุดเด่นในหลายด้าน เช่น ด้านราคา ด้านความปลอดภัย และด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัตถุดิบสังกะสีมีราคาถูกและมีปริมาณมากในธรรมชาติ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยสูง คือไม่ติดไฟและไม่ระเบิดแม้ถูกเจาะ ทั้งยังให้สมรรถนะที่ดี ที่สำคัญไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถนำมารีไซเคิลได้ สำหรับแนวทางการนำไปใช้งาน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแบบอยู่กับที่ แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย สถานีวิทยุสื่อสารทหาร รถไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า หรือสถานที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง อาทิ แท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น 

ดร.ศิวรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยศักยภาพของแบตเตอรี่สังกะสีไอออนทั้งประสิทธิภาพ ราคา และความปลอดภัย ทำให้มีการตั้งเป้าพัฒนาสู่ ‘แบตเตอรี่สมรรถนะสูง’ จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการสร้าง ‘อุตสาหกรรมใหม่’ ให้แก่ประเทศ โดยแบตเตอรี่สังกะสีไอออนที่ศูนย์ NSD วิจัยพัฒนาขึ้นมามีประสิทธิภาพที่ไม่ได้ด้อยกว่าแบตเตอรี่แบบลิเทียมที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญประเทศไทยมีแหล่งสำรองแร่สังกะสี จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ทางด้านการผลิตแบตเตอรี่สังกะสีแบบปลอดภัยได้เองในประเทศ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศด้วย 

“ขณะนี้ สวทช. ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) จัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัย ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัย และเป็นศูนย์กลางในเครือข่ายงานวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ อีกทั้งยังมีการจัดทำ โครงการศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนจัดตั้งโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออนในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากแหล่งทุน กฟผ.-สวทช. เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีแบตเตอรี่สังกะสีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีแผนจัดสร้างโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออน ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) ซึ่งตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยองในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างทั้งรายได้ ความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศ” ดร.ศิวรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย 

วช. จับมือ ศสอ. วางกรอบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน

    ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 656,651 ตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 1.6) โดยเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428,113 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 65 ของของเสียอันตรายทั้งหมด) แต่เนื่องด้วยการจัดการไม่มีระบบการจัดการที่เหมาะสมตั้งแต่บ้านเรือนจนถึงปลายทาง ส่งผลให้ปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง จนถึงการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลายทาง ดังนั้น ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ “แผนงานวิจัยท้าทายไทย: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 1  โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมี 4 เป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาวงจรและจัดทำระบบฐานข้อมูลขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน 2) เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการรวบรวมและขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายชุมชน 3) เพื่อพัฒนาแนวทางและรูปแบบในการเสริมสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนอย่างถูกต้อง และ 4) เพื่อวิจัยและพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบจากพื้นที่เสี่ยง

รศ.ดร.สุธา  ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานแผนงานวิจัยการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 1 ในภาพรวมได้ข้อสรุปสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ได้ทราบปริมาณและประเภทของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้น ณ แหล่งกำเนิด โดยจากผลการประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และของเสียอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ หลอดไฟ และถ่านไฟฉาย ด้วยวิธี Consumption use model พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนทั้งประเทศ ในปี 2562 มีปริมาณ 607,575.75 ตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ จากการนำข้อมูลปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากการประเมินมาประมวลผลรวมกับข้อมูลทางสถิติ เพื่อศึกษาผังการไหลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 7 ชนิด พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ก่อกำเนิดจะถูกส่งต่อไปยังผู้เก็บรวบรวมและรื้อแยก โดยแบ่งการจัดการออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การจัดการโดยโรงงานอุตสาหกรรม (ร้อยละ 28.00) และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยชุมชน (ร้อยละ 50.00) อย่างไรก็ตาม มีขยะอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดการ โดยจะถูกเก็บไว้ในส่วนของครัวเรือน ส่วนที่สอง ได้ทราบ

เกี่ยวกับวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยชุมชน ชุมชนรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยชุมชนรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ชุมชน ผู้ประกอบการทำการรื้อแยกด้วยวิธีทางกายภาพ เพื่อให้ได้วัสดุที่สามารถนำไปขายต่อ ส่วนเศษวัสดุเหลือทิ้งจะถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จากผลการศึกษาพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เข้าสู่พื้นที่ทั้งหมด สามารถรื้อแยกเป็นวัสดุที่ขายได้คิดเป็นร้อยละ 78 ได้แก่ เหล็ก พลาสติก ทองแดง อะลูมิเนียม สายไฟ แผงวงจร โลหะผสม และสแตนเลส และเศษวัสดุเหลือทิ้งคิดเป็นร้อยละ 22 ได้แก่ แก้ว พลาสติกทนความร้อน โฟมโพลียูรีเทน ยาง สารละลายน้ำเกลือ และสารทำความเย็น นอกจากนี้พบว่าในกระบวนการรื้อแยกและจัดการวัสดุบางประเภท เช่น การเผาสายไฟเพื่อให้ได้ทองแดง การทุบหน้าจอ CRT ในโทรทัศน์ เพื่อให้ได้เหล็ก และการกำจัดโฟมในตู้เย็นด้วยวิธีการเผา ทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ ดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่ประกอบกิจกรรมรื้อแยกและพื้นที่โดยรอบที่เกี่ยวเนื่องกับการรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการวิเคราะห์โลหะหนัก 8 ชนิด ได้แก่ ทองแดง นิกเกิล สังกะสี แมงกานีส โครเมียม แคดเมียม ตะกั่ว และสารหนู พบว่าพื้นที่ประกอบกิจกรรมรื้อแยกมีแนวโน้มปริมาณโลหะหนักสูงกว่าในพื้นที่ที่ไม่ประกอบกิจกรรมรื้อแยก โดยเฉพาะบริเวณในสถานที่ทิ้งขยะที่มีกิจกรรมการทุบหน้าจอ CRT และการเผาสายไฟพบปริมาณโลหะหนักสูงที่สุด จากผลการศึกษาทำให้ทราบว่าการประกอบอาชีพอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประกอบการ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในชุมชนอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้การประกอบอาชีพรื้อแยกดำเนินไปได้โดยก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ในส่วนของชุมชนรื้อแยกที่ไม่ได้มีกฎหมายใดมาควบคุมดูแลโดยเฉพาะ อาจถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการควบคุมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการรื้อแยกที่ชัดเจน ทำอย่างไรจึงจะยกระดับมาตรฐานการทำงานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะผลักดันให้ชุมชนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบที่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทางแผนงานฯ จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางในการลดผลกระทบ โดยได้สร้างสร้างสถานประกอบการต้นแบบด้วยหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อลดกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่แหล่งกำเนิด ซึ่งสถานประกอบการนี้มีแนวคิดที่ว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในด้านประโยชน์การใช้สอยพื้นที่และการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามต้องให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และนอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้ศึกษานวัตกรรมเครื่องปอกสายไฟ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเผาสายไฟเพื่อให้ได้ทองแดง อย่างไรก็ตามนวัตกรรมดังกล่าวยังต้องทำการพัฒนาและขยายผลต่อไป 

    จากผลการศึกษาที่ได้จากแผนงานฯ ในระยะที่ 1 ทำให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนทั้งระบบ จนสามารถนำมาวางแผนการจัดการในภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้ข้อมูลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงยังต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในแผนงานฯ ระยะที่ 2 ซึ่งในการศึกษาแผนงานฯ ระยะที่ 2 มุ่งหวังที่จะผลักดันให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำานักงานการวิจยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อเกิดการพัฒนาแล้วมักจะมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เหมาะสม เกิดมลพิษที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพดิน น้ำและอากาศ และส่งผลกระทบเชิงลบกลับมายังทรัพยากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นแนวทางเบื้องต้นในการหาทางออกและคำตอบในการแก้ปัญหาดังกล่าวและเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เร่งแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ และของเสียอันตรายที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเมืองสีเขียวและสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน โดยมีแผนงานในการดำเนินการวิจัยและนวัตกรรมในโปรแกรม 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร มีเป้าหมาย (Objectives: O) ใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

วช. มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2564 แก่นักวิจัย ม.ธรรมศาสตร์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House): 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 5)” เชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House): 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้ วช. ได้มีการเปิดตัว 1 นักวิจัย ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2564

ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มทำงานวิจัยตั้งแต่พ.ศ. 2546 ซึ่งงานวิจัยจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ทั้งในด้านแนวคิด คำสอน หรือหลักธรรม รวมทั้งการประยุกต์ใช้หลักธรรมในสังคมปัจจุบัน เช่น คำสอนเรื่องนิพพาน การใช้พุทธธรรมเพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยม และด้านกิจการรวมทั้งปัญหาด้านต่าง ๆ ของพระสงฆ์ หรือ คณะสงฆ์ เช่น ปัญหาเรื่องสมณศักดิ์ ปัญหาการทำผิดพระวินัย และกฎหมายพระสงฆ์องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยสามารถสร้างความเข้าใจและช่วยแก้ปัญหาด้านคำสอน และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในสังคมไทย เช่น ปัญหาเรื่องนิพพานและอนัตตา ความเชื่อเรื่องชีวิตระหว่างภพ หรือหลังความตาย การแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ที่เกี่ยวกับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย สามารถช่วยอธิบายปัญหา และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษา ค้นคว้าวิจัยต่อยอด ของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อไป
ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ มีความโดดเด่นในแง่ของการเสาะแสวงหาความจริงใน 3 มิติ ได้แก่ 1. คำสอนหรือหลักธรรม 2. การนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน 3. การปฏิรูปพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ จึงได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564

ศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ กล่าวว่า แนวทางในการนำงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนามาปรับใช้กับสังคม ควรขึ้นอยู่กับความเชื่อและการยอมรับของผู้นำไปใช้ด้วย โดยต้องถูกต้อง ตรงตามหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งต้องมีการนำมาอ้างอิงกับศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน
ด้านครอบครัว และการทำงาน โดยทางพระพุทธศาสนาให้ยึดถือหลักทางสายกลาง ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันหมายถึงความพอดี พอเพียง ในทุก ๆ ด้าน

โดยเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการค้นหาแนวทางแก้ไขและพัฒนา คือ ต้องใช้สติปัญญา และความเมตตากรุณา เพราะในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างต้องเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้หากสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ได้ จะสามารถช่วยให้ประเทศของเรามีความสมดุลและมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งยังฝากข้อแนะนำแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ ถึงการทำงานด้านการวิจัยในมุมมองของอาจารย์ว่า งานวิจัยควรจะต้องปราศจากอคติ และค้นคว้าหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่สังคม เพื่อให้งานวิจัยถูกหยิบยกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรม

“เอนก” ลงพื้นที่ เยี่ยม รพ.สนาม ที่ มศว.องครักษ์ นครนายก ซึ่งจะเปิดรับตั้งแต่ 18 เม.ย.นี้ ชี้ถึงจะมีผู้ป่วยใหม่เป็นพันรายต่อเนื่องหลายสัปดาห์ รับมืออยู่แน่นอน วอนประชาชนอย่าวิตกกังวล

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมปลัดกระทรวงและผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) องครักษ์ จ.นครนายก โดยมี รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนะกุล อธิการบดี มศว. ผศ.พญ.นันทนา ชุมช่วย ผอ.โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พญ.อมรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธาณรสุขจังหวัดนครนายก เข้าร่วม

ทั้งนี้ ผศ.พญ.นันทนา กล่าวว่า มศว.ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ จำนวน 200 เตียง โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 18 เม.ย.เป็นต้นไป ซึ่งการระบาดของโควิด – 19 ระลอกที่ 3 ถือว่าค่อนข้างหนัก โดยโรงพยาบาลสนามของ มศว. จะรับผู้ป่วยจากโซน จ.ปทุมธานีและ กทม.เป็นหลัก รวมทั้งนิสิตของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสนาม มีศักยภาพสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิดรู้ผลได้ภายใน 6 ชั่วโมง มีพยาบาล จำนวน 59 คน ผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 20 คน อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 11 เครื่อง มีรถเคลื่อนย้ายคนไข้ จำนวน 4 คัน มีโคมไฟฆ่าเชื้อ มีนักจิตวิทยาที่จะดูแลผู้ป่วย ถือว่ามีความพร้อมค่อนข้างน่าพอใจ

ขณะที่ พญ.อมรรัตน์ กล่าวว่า การติดเชื้อใน จ.นครนายก ไม่มี แต่ส่วนใหญ่ติดมาจากคนต่างพื้นที่ มาจาก จ.สมุทรสาคร 3 ราย จ.ปทุมธานี 13 ราย จากสถานบันเทิง 9 ราย มีนิสิตจาก มศว. 2 – 3 ราย เป็นต้น มีพยาบาลจาก 3 โรงพยาบาลใน 3 อำเภอมาช่วยโรงพยาบาลสนาม

ด้าน ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า อว.ไม่ได้มีแต่เพียงมหาวิทยาลัย แต่ยังมีหน่วยวิจัยและพัฒนาอีกหลายแห่งที่จะเข้าไปช่วยตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อเกิดวิกฤติ ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและมหาดไทย ทั้งกล่าวว่าตนเองดีใจที่ อว.เป็นกองหนุนที่พร้อมในการทำงานในทุกจังหวัดเพื่อรับมือกับโควิด – 19 ระลอกสาม

“ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขวัญและกำลังใจ การที่ทุกหน่วยของ อว.ร่วมมือร่วมใจกันเปิดโรงพยาบาลสนาม ก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ ท่านทั้งหลายได้เสียภาษีให้รัฐบาลมาตั้งเป็นงบประมาณ สร้างโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล เมื่อมีวิกฤติ อว.พร้อมที่จะเป็นกองหนุนช่วย ถ้าจำเป็นจะขยายมากกว่า 12,000 กว่าเตียงที่มีอยู่ในเวลานี้อีก อยากบอกประชาชนไทยว่า “อย่าวิตก ประเทศเรา มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และขอให้ความมั่นใจว่า “เราจะผ่านโควิด-19 ระลอก 3 ไปได้อย่างแน่นอน” รมว.อว. กล่าว

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้โรงพยาบาลสนาม ของ อว.ในทั่วประเทศ รวมแล้ว 1,179 เตียง ซึ่งทั้งหมดอาการไม่หนัก โดยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ามา 346 ราย นอกจากนี้ เรายังมีระบบรองรับการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักให้ไปถึงโรงพยาบาลหลักอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

โอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช. ) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้ส่งมอบนวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา 1,000 ชุด
โดยมอบให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยาร่วมกับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา 250 ชุด และเตรียมให้กับโรงพยาบาลสนาม 350 ชุด ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งขอรับการสนับสนุน โดยจะนำไปใช้ที่โรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยCovid-19 ที่ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.พนมสารคาม และที่อาคารสัมมนาบางประกง และหอประชุมภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า

Design a site like this with WordPress.com
Get started